Last updated: 1 Sep 2018 | 1472 Views |
อบเชย เป็นเครื่องเทศที่มีกลิ่นหอม ได้มาจากเปลือกไม้ชั้นในที่แห้งแล้วของต้นอบเชย แท่งอบเชยมีสีน้ำตาลแดง มีลักษณะเหมือนแผ่นไม้แห้งที่หดงอหลังจากโดนความชื้น นิยมใช้อบเชยในการทำเครื่องแกง ในอาหารคาวประเภทต้มและตุ๋น ส่วนในประเทศแถบตะวันตก มักใส่อบเชยในของหวาน ใช้ผงอบเชยละเอียดโรยหน้ากาแฟ โดยที่ชาวตะวันตกเรียกอบเชยว่า “Energizing spice” เนื่องจากอบเชยช่วยให้ร่างกายมีพลัง เพิ่มความสดชื่นกระปรี้กระเปร่า มีชีวิตชีวา
อบเชยมีสรรพคุณทางยา เนื่องจากมี แทนนิน(tannin) สูงที่ให้รสฝาดจึงนิยมใช้ในยาตำรับแผนโบราณเช่น เป็นส่วนผสมในยาหอมต่างๆ โดยใช้ส่วนของเปลือกลำต้น ใช้ในการแก้จุกเสียด แน่นท้อง หรือใช้ในการทำยานัตถุ์ใช้สูดดม เพื่อเพิ่มความสดชื่น ลดอาการอ่อนเพลีย แก้โรคท้องร่วงเพราะมีส่วนช่วยต้านแบคทีเรียในกระเพาะอาหาร ขับปัสสาวะ ช่วยในการย่อยอาหาร และสลายไขมัน ส่วนเปลือกลำต้นอายุมากกว่า 6 ปี หรือใบกิ่งยังนำมาสกัดน้ำมันหอมระเหยได้อีกด้วย
เนื่องจากอบเชยมีสารต้านอนุมูลอิสระมีหน้าที่ต่อสู้กับสารอนุมูลอิสระ ที่อาจสร้างความเสียหายให้แก่เซลล์ต่างๆในร่างกาย โดยสารอนุมูลอิสระอาจเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคหลอดเลือดแดงแข็งและโรคมะเร็งได้ มีการศึกษาค้นคว้าที่แสดงให้เห็นว่า อบเชยมีคุณสมบัติต้านอนุมูลอิสระสูง นอกจากนั้นอบเชยยังมีคุณสมบัติต้านการอักเสบที่เป็นกระบวนการที่เซลล์เม็ดเลือดขาวปกป้องร่างกายจากสิ่งแปลกปลอมเช่นการติดเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรีย
ซึ่งสารประกอบฟลาโวนอยด์ (Flavonoids) ในอบเชย เช่น กอสไซปิน (Gossypin) เฮสเพอริดิน (Hesperidin) เควอซิทิน (Quercetin) มีคุณสมบัติต้านการอักเสบได้และพบว่า สารไฮดรอกซีซินนามาลดีไฮด์ (Hydroxycinnamaldehyde) ที่สกัดจากอบเชยมีฤทธิ์ต้านการอักเสบมีประสิทธิภาพในการรักษาหรือป้องกันการอักเสบจากโรคทางระบบประสาท และช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดเนื้องอกมะเร็งได้อีกด้วย
อบเชยเป็นพืชสมุนไพรที่อุดมไปด้วยสารโพลีฟีนอล (Polyphenolics) ที่ใช้ในแพทย์แผนจีนมายาวนานและเชื่อว่าอาจส่งผลดีต่อระดับน้ำตาลในเลือด การรับประทานอบเชยหรือสารสกัดจากอบเชยอาจช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วยโรคเบาหวานประเภทที่ 2 และผู้ที่เสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวานได้ นอกจากนั้นยังช่วยรักษาและลดความเสี่ยงการเกิดโรคหัวใจ โรคทางระบบประสาท ลดความดันโลหิตและ ลดไขมันในเลือด ช่วยแก้อาการปวดหัว ปวดข้อและอาการอักเสบต่างๆ ในร่างกายได้เป็นอย่างดี เพราะส่วนประกอบสำคัญที่ชื่อ cinnamyl alcohol มีคุณสมบัติในการปล่อยฮีสตามีนออกจากร่างกาย
อบเชยมักถูกนำมาบดเป็นผงประกอบอาหาร หรือใช้เป็นสารแต่งกลิ่นในผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น ยาสีฟัน น้ำยาบ้วนปาก สบู่ เครื่องสำอาง และยารักษาโรคของแพทย์แผนจีนโบราณ
คัดเลือกคุณค่าจากธรรมชาติ เพื่อคงคุณค่าของธรรมชาติ
บริษัท เนเจอร์ อโกร โปรดักซ์ จำกัด
ขอขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก:
https://th.wikipedia.org/wiki/อบเชย
https://www.pobpad.com/อบเชย-กับประโยชน์ต่อสุข
https://www.sanook.com/women/62611/
https://www.matichonweekly.com/lifestyle/article_19616
6 Sep 2018
8 Sep 2018
7 Sep 2018
6 Sep 2018