เลิกใช้ 3 สารพิษทันที

Last updated: 30 ส.ค. 2561  |  1282 จำนวนผู้เข้าชม  | 

เลิกใช้ 3 สารพิษทันที

     “รมช.ยักษ์ ประกาศเลิกใช้ 3 สารพิษทันที ไม่ใช่ลดใช้เท่านั้น เร่งตั้งคณะเฉพาะกิจศึกษาผลเสียรอบด้าน ส่งข้อมูลให้คณะกรรมการฯที่นายกฯตั้งภายใน 30 วัน ”

     ในช่วงตลอดระยะเวลาที่ผ่านมามีผู้กล่าวถึง สารเคมีทั้ง 3 ชนิดนี้กันอย่างร้อนแรงถึงอันตรายที่เกิดขึ้นและผลกระทบที่เกิดขึ้น สำหรับผู้เป็นเกษตรกรจะรู้จักสารเคมีทั้ง 3 ชนิดนี้กันเป็นอย่างดี เพราะนิยมใช้กันอย่างแพร่หลายโดยมาอย่างยาวนาน
     โดยประเด็นหลักก็คือมีผู้ออกมาต่อต้าน และให้ยกเลิกการใช้สารเคมีทั้ง3 ชนิดนี้ วันนี้เราจะมาดูกันซิว่าสารเคมีนี้คืออะไร และเกิดผลกระทบอย่างไรบ้าง

     พาราควอต (Paraquat) เป็นสารเคมีกำจัดวัชพืช (ยาฆ่าหญ้า) ช่วยลดต้นทุนการผลิต ถูกกว่าจ้างคนมาถากถอนหญ้าที่มีค่าแรงแพง และดีกว่าใช้รถจักรกลมาไถกลบ เพราะวัชพืชมักจะงอกขึ้นมากมายในฤดูฝน สารเคมีชนิดนี้มีพิษเฉียบพลันสูงต่อมนุษย์ ไม่มียาถอนพิษ และมีผลกระทบเรื้อรังต่อสุขภาพ เช่น ก่อโรคพาร์กินสัน สมองเสื่อม
     แม้ใส่อุปกรณ์ป้องกันก็ยังสามารถผ่านเข้าสู่ร่างกายได้โดยการสัมผัสทางผิวหนังรวมทั้งบาดแผล แล้วซึมเข้าร่างกายจนเกิดอันตรายถึงชีวิต ทั้งยังพบตกค้างในอาหาร สิ่งแวดล้อม และมนุษย์จากการวิจัยของหลายสถาบัน นอกจากนี้พาราควอตยังสามารถผ่านจากมารดาไปสู่ตัวอ่อนในครรภ์
     จากการศึกษาของคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล พบการตกค้างของพาราควอตในซีรั่มทารกแรกเกิดและมารดาระหว่าง 17-20% และหากมีประวัติการขุดดินในพื้นที่เกษตร ยิ่งมีความเสี่ยงในการตรวจพบพาราควอต คิดเป็น 6 เท่าของหญิงตั้งครรภ์ที่ไม่มีการขุดดิน
     ในปัจจุบันมี 53 ประเทศทั่วโลกที่แบนพาราควอต แม้แต่ประเทศผู้พัฒนา ประเทศผู้ผลิตรายใหญ่ และประเทศเจ้าของผลิตภัณฑ์

     คลอร์ไพริฟอส (Chlorpyrifos) เป็นสารเคมีกำจัดศัตรูพืช อีกหนึ่งชนิดที่ส่งผลกระทบต่อแม่และเด็กได้ มีงานวิจัยที่ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารนานาชาติที่ระบุว่าสารเคมีดังกล่าวส่งผลต่อพัฒนาการของเด็ก ทำให้มีอาการสมาธิสั้นไปจนถึงปัญหาด้านความบกพร่องของพัฒนาการแบบรอบด้าน นอกจากนี้ยังส่งผลต่อการทำงานของต่อมไร้ท่อ และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มอัตราการเป็นมะเร็งลำไส้ได้ 
     งานวิจัยตรวจสารพิษตกค้างในผักและผลไม้ของคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา รายงานวิจัยของมหาวิทยาลัยมหิดล และข้อมูลการตรวจสารเคมีกำจัดศัตรูพืชในผักผลไม้ของเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืชให้ข้อมูลที่สอดคล้องกัน โดยพบว่าคลอร์ไพริฟอสเป็นสารเคมีที่ตกค้างมากที่สุดในกลุ่มสารกำจัดแมลง

     ไกลโฟเซต (Glyphosate) เป็นสารเคมีกำจัดวัชพืช ทำหน้าที่กำจัดปราบวัชพืช ที่ได้รับความนิยมสูงมากในปัจจุบัน โดยใช้กำจัดแมลงศัตรูพืชที่รบกวนผักต่างๆ เช่น ข้าวโพด ฝ้าย ถั่วลิสง ถั่วเหลือง มันฝรั่ง ข้าว อ้อย ยาสูบ ส้ม สตรอเบอร์รี่ แอสปารากัส มะเขือเทศ ไม้ดอกและไม้ประดับทั่วไป มะม่วง มะปราง ลำใย เป็นต้น โดยสามารถกำจัดแมลง คือ  เพลี้ยอ่อน หนอนเจาะสมอฝ้าย หนอนคืบกะหล่ำ มวนแดงฝ้าย ไรแดง ไรสนิมส้ม เพลี้ยหอย เพลี้ยแป้งทุเรียน มอดเจาะลำต้นทุเรียน เพลี้ยแป้ง หนอนเจาะผลทุเรียน หนอนกอข้าว หนอนม้วนใบ หนอนกระทู้ผัก เสี้ยนดิน เพลี้ยอ่อนยาสูบ หนอนเจาะเมล็ด ด้วงงวงมันเทศ แมลงดำหนามมะพร้าว เพลี้ยอ่อนข้าวโพด เป็นต้น  สารเคมีชนิดนี้สามารถส่งผลกระทบต่อแม่และเด็กได้ ซึ่งสถาบันวิจัยมะเร็งนานาชาติ ภายใต้องค์การอนามัยโลก ได้เผยแพร่รายงานในปี 2558 โดยกำหนดให้ไกลโฟเซตเป็น ‘สารที่น่าจะก่อมะเร็ง’ (probably carcinogenic to humans) ในมนุษย์ เนื่องจากมีหลักฐานเพียงพอว่าก่อมะเร็งในสัตว์ทดลอง และหลักฐานที่หนักแน่นว่าก่อให้เกิดความผิดปกติของสารพันธุกรรม (ทำลายยีน-โครโมโซม)
     นอกจากนี้ยังมีข้อค้นพบว่าไกลโฟเซตสัมพันธ์กับการเกิดโรคหลายชนิดเพิ่มมากขึ้น เช่น เบาหวาน โรคอ้วน อัลไซเมอร์ และทำให้เซลล์รกได้รับความเสียหายด้วยเช่นกัน
     ในประเทศไทยพบไกลโฟเซตปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม โดยมหาวิทยาลัยนเรศวรพบการตกค้างของไกลโฟเซตในน้ำดื่มบรรจุขวดที่ผลิตในจังหวัดน่านเฉลี่ย 10.1 ไมโครกรัมต่อลิตร และพบในน้ำประปาเพื่อการอุปโภคบริโภค 11.26 ไมโครกรัมต่อลิตร โดยมีระดับการตกค้างในหลายตัวอย่างที่เกินค่ามาตรฐานของบางประเทศ การตกค้างของไกลโฟเซตในสิ่งแวดล้อมและในร่างกายของแม่และทารกเป็นสิ่งที่น่ากังวล เนื่องจากมีงานวิจัยชี้ว่าการตกค้างแม้เพียงเล็กน้อยก็อาจส่งผลกระทบต่อการทำงานของต่อมไร้ท่อได้


ขอขอบคุณข้อมูลจาก:

http://www.komchadluek.net/news/regional/341071

http://www.komchadluek.net/news/regional/341259

https://thestandard.co/paraquat-poisoning/

http://webboard.health.sanook.com/forum/?topic=5288302