เล็กๆ แต่ยิ่งใหญ่ "เมล็ดพันธุ์ไม้เพื่ออนาคต"

Last updated: 30 ส.ค. 2561  |  1227 จำนวนผู้เข้าชม  | 

เล็กๆ แต่ยิ่งใหญ่ "เมล็ดพันธุ์ไม้เพื่ออนาคต"

     เป็นที่น่ายินดี สำหรับข่าวโครงการธนาคารเมล็ดพันธุ์ไม้ยืนต้นโลก-ประเทศไทย (Global Tree Seed Bank Project; Thailand-BKF) ในปัจจุบัน (พ.ศ. 2559-2562) อันสืบเนื่องมาจาก พระราชกระแสรับสั่งของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ระหว่างเสด็จเข้าร่วมประชุมพรรณพฤกษชาติประเทศไทย ณ สวนพฤกษศาสตร์คิว สหราชอาณาจักร เมื่อปี พ.ศ. 2557 ซึ่งโครงการนี้ เป็นหนึ่งในโครงการสำคัญที่คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มุ่งมั่นเป็นส่วนหนึ่งในการเก็บรวบรวมและรักษาเมล็ดพันธุ์ไม้ป่า เพื่อเป็นหลักประกันสำหรับอนาคต ผ่านการทำงานของหน่วยวิจัยการฟื้นฟูป่า ซึ่งเป็นหน่วยวิจัยที่เกิดจากการรวมกลุ่มของนักนิเวศวิทยาและนักศึกษา ภายใต้คณะวิทยาศาสตร์  มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาวิจัยเทคนิค วิธีการในการฟื้นฟูป่าและระบบนิเวศ เพื่อการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพและสิ่งแวดล้อม

     ซึ่งมีสำนักงานตั้งอยู่ที่ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยมีเป้าหมายในการเก็บเมล็ดไม้ยืนต้นจำนวนไม่น้อยกว่า 244 ชนิด ซึ่งในการเก็บเมล็ดพันธุ์นั้น ต้องใช้เวลาและความละเอียดถี่ถ้วนในการทำงาน เพราะเมล็ดพันธุ์ไม้ไม่ได้มีตลอดทั้งปี

     ต้นไม้แต่ละชนิดมีช่วงเวลาออกดอกออกผลแตกต่างกันไป อีกทั้งการเก็บเมล็ดพันธุ์แต่ละชนิดต้องเก็บจากบนต้นเท่านั้น ไม่ควรเก็บเมล็ดที่ร่วงหล่นบนพื้นตามธรรมชาติ โดยต้องเก็บชนิดละไม่ต่ำกว่า 1 หมื่นเมล็ด แต่ต้องไม่เกินร้อยละ 20 ของจำนวนเมล็ดที่มีอยู่ในแต่ละต้น โดยหลีกเลี่ยงการเก็บเมล็ดทั้งหมดบนต้นไม้ต้นเดียว และพยายามเก็บเมล็ดจำนวนน้อยจากทุกต้นในประชากร เพื่อให้ต้นไม้ได้แพร่พันธุ์ตามธรรมชาติ และเพื่อรักษาความหลากหลายทางชีวภาพ

     โดยหลังจากเก็บเมล็ดมาครบตามจำนวนแล้วยังมีขั้นตอนปลีกย่อยอีกหลายขั้นตอน เช่น การคัดแยกเมล็ดและการทำความสะอาด การตรวจสอบเมล็ดด้วยสายตา การตรวจสอบคุณภาพเมล็ด การแยกเมล็ดออกจากกากและวัสดุอื่น ๆ การทำให้แห้งโดยสารดูดความชื้น รวมไปถึงการทำตัวอย่างพรรณไม้แห้ง 

     เพราะฉะนั้นนักวิจัยต้องทำงานอย่างต่อเนื่อง และมีความรู้เกี่ยวกับพันธุ์ไม้แต่ละชนิด รวมทั้งกระบวนการคัดแยก และการเก็บรักษาเป็นอย่างดี จึงจะได้เมล็ดพันธุ์ที่สมบูรณ์และเหมาะสมที่จะนำไปเก็บรักษาไว้ ณ ธนาคารเมล็ดพันธุ์ ศูนย์ธรรมชาติวิทยาดอยสุเทพเฉลิมพระเกียรติฯ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เป็นหน่วยงานที่มีเป้าหมายสำคัญในการให้บริการวิชาการแก่ชุมชนด้านธรรมชาติวิทยา การอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ และการฟื้นฟูระบบนิเวศ ที่มีความมุ่งหวังที่จะเป็นกลไกสำคัญในการรวบรวมเมล็ดพันธุ์ไม้ท้องถิ่น ทั้งเพื่อการอนุรักษ์และการใช้ประโยชน์ในอนาคต ตลอดจนทำหน้าที่ส่งเสริมความมั่นคงด้านทรัพยากรของประเทศไทยอย่างยั่งยืน


ขอบคุณข้อมูลจาก เว็บไซต์ : cmu.ac.th
หัวเรื่องการวิจัย
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
https://www.cmu.ac.th/researchnewsdetail.php?id=1154&rsstype_id=2