โคก หนอง นา โมเดล

Last updated: 14 ส.ค. 2561  |  3994 จำนวนผู้เข้าชม  | 

โคก หนอง นา โมเดล

โคก หนอง นา โมเดล

การออกแบบ Landscape ที่เหมาะสมกับภูมิสังคม แนวคิดการจัดการน้ำ "โคก หนอง นา โมเดล" เพื่อกักเก็บน้ำไว้ทั้งบนดิน (ด้วยหนอง คลองไส้ไก่ และคันนา) และใต้ดิน (ด้วยป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่างตามแนวพระราชดำริ)



โคก หนอง นา โมเดล เป็นการจัดการพื้นที่ซึ่งเหมาะกับพื้นที่การเกษตร ซึ่งมักอยู่ในพื้นที่กลางน้ำ ได้ทำการผสมผสานเกษตรทฤษฎีใหม่เข้ากับภูมิปัญญาพื้นบ้านแปลงสู่คำภาษาไทยที่ชาวบ้านเข้าใจง่ายๆ คือ “โคก หนอง นา” โดยยึดหลักว่า

ดินที่ขุดทำหนองน้ำนั้นให้นำมาทำโคก บนโคกปลูก “ป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง” ตามแนวทางพระราชดำริ

ส่วนหนองน้ำนั้นเพื่อให้น้ำกระจายไปเต็มพื้นที่ให้ขุด “คลองไส้ไก่” หรือคลองระบายน้ำรอบพื้นที่ตามภูมิปัญญาชาวบ้าน โดยขุดให้คดเคี้ยวไปตามพื้นที่เพื่อให้น้ำกระจายเต็มพื้นที่เพิ่มความชุ่มชื้น ลดพลังงานในการรดน้ำต้นไม้

นอกจากนั้นยังสามารถทำ ฝายทดน้ำ เพื่อเก็บน้ำเข้าไว้ในพื้นที่ให้มากที่สุด โดยเฉพาะเมื่อพื้นที่โดยรอบไม่มีการกักเก็บน้ำ น้ำจะหลากลงมายังหนองน้ำ และคลองไส้ไก่ ให้ทำฝายทดน้ำเก็บไว้ใช้ยามหน้าแล้ง

ส่วนพื้นที่นานั้นให้ยกคันนาให้สูงและกว้าง โดยสูง 1-1.2 เมตร ความกว้างตามความเหมาะสม เพื่อให้นาสามารถกักเก็บน้ำไว้ได้ในยามน้ำหลาก ทำนาน้ำลึก ปลูกข้าวอินทรีย์พื้นบ้าน โดยเริ่มจากการฟื้นฟูดิน ด้วยการทำเกษตรอินทรีย์ คืนชีวิตเล็กๆ หรือจุลินทรีย์กลับคืนแผ่นดิน ข้าวพันธุ์พื้นเมืองที่เติบโตด้วยดินที่อุดมจะมีภูมิคุ้มกันต่อโรคและแมลง

ใช้การควบคุมปริมาณน้ำในนาเพื่อคุมหญ้า ทำให้ปลอดสารเคมีได้ ปลอดภัยทั้งคนปลูก คนกินบนคันนา และโดยรอบพื้นที่ปลูกพืช ผัก สวนครัว เลี้ยงหมู เลี้ยงไก่ เลี้ยงปลา ทำให้พออยู่ พอกิน พอใช้ พอร่มเย็น เป็นเศรษฐกิจพอเพียงขั้นพื้นฐาน ก่อนเข้าสู่ขั้นก้าวหน้า คือทำบุญ ทำทาน เก็บรักษา ค้าขาย และเชื่อมโยงเป็นเครือข่าย

มีการพัฒนาแหล่งน้ำในพื้นที่ ทั้งการขุดลอก หนอง คู คลอง เพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้ยามหน้าแล้ง และเพิ่มการระบายน้ำยามน้ำหลาก

ขอขอบคุณเพจ :
https://www.facebook.com/isethai/
ข้อมูลเพิ่มเติม :
https://www.facebook.com/notes/สถาบันเศรษฐกิจพอเพียง-ise/โคก-หนอง-นา-โมเดล-การออกแบบ-landscape-ที่เหมาะสมกับภูมิสังคม/789243687787035/